ผัก 5 ชนิด รับประทานแบบดิบอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย

รู้หรือไม่? ผักบางชนิดไม่ควรรับประทานแบบดิบ อาจเสี่ยงสารตกค้าง และเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว

แค่ล้างให้สะอาด อาจยังไม่เพียงพอ…
แม้ผักจะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบเมนูต่าง ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าผักบางชนิดไม่ควรทานในรูปแบบดิบ ๆ เพราะอาจมีสารพิษตามธรรมชาติตกค้าง ที่ต้องผ่านความร้อนจึงจะสลายตัวได้ การปรุงให้สุกก่อนจัดเสิร์ฟให้ลูกค้ารับประทานจึงเป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการอย่างเต็มที่

ทำไมการ “ล้างผัก” อย่างเดียวจึงไม่พอ?


หลายคนอาจเข้าใจว่าการล้างผักจะช่วยลดสารปนเปื้อนได้ทั้งหมด แต่ความจริงนั้น
สารตกค้างจากสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง หรือยากำจัดศัตรูพืช อาจฝังแน่นอยู่ภายในผัก และไม่สามารถล้างออกได้หมด
เชื้อแบคทีเรียบางชนิด โดยเฉพาะสารพิษที่แทรกซึมอยู่ในโครงสร้างของผัก ไม่สามารถล้างออกได้ และยังคงอยู่ แม้จะล้างซ้ำหลายครั้ง
วิธีที่ปลอดภัย คือ “การนำผักไปผ่านความร้อน” เพื่อทำลายสารตกค้างจากสารเคมี และเชื้อแบคทีเรียให้เหลือน้อยที่สุด

ผัก 5 ชนิดที่ไม่ควรรับประทานแบบดิบ


1. ผักโขม
ผักโขมมีกรดออกซาลิก ซึ่งสามารถรบกวนการดูดซึมแคลเซียม และธาตุเหล็กในร่างกาย หากรับประทานพร้อมอาหารที่มีแร่ธาตุเหล่านี้ อาจทำให้ร่างกายดูดซึมได้น้อยลง
2. กะหล่ำปลี
โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) สารกอยโตรเจนในกะหล่ำปลีสามารถยับยั้งการดูดซึมไอโอดีนได้ อีกทั้งสารออกซาเลตที่ทำให้เกิดโรคนิ่ว ควรปรุงผ่านความร้อนก่อนบริโภค ส่วนผู้ที่ไม่มีปัญหาไทรอยด์ควรล้างให้สะอาดอย่างละเอียดก่อนนำไปทำอาหาร
3. ถั่วฝักยาว
เป็นผักที่มักพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปริมาณสูง เนื่องจากถั่วฝักยาวนั้นดูดซึมสารเคมีเข้าไปในเนื้อฝักได้ดี โดยปกติ สารเคมีเหล่านี้จะสลายตัวภายในประมาณ 7 วัน แต่เมื่อผักมาถึงมือผู้บริโภค เราไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าเก็บเกี่ยวมาแล้วนานแค่ไหน แม้ล้างก็อาจไม่สามารถขจัดออกได้หมด ควรแช่น้ำทิ้งไว้ และปรุงให้สุกก่อนรับประทาน
4. ถั่วงอก
กระบวนการเพาะถั่วงอกนั้นมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เช่น ซาลโมเนลลา และอีโคไล ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ การปรุงผ่านความร้อนสามารถช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้
5. หน่อไม้ และมันบางชนิด
หน่อไม้ดิบ มันฝรั่ง และมันสำปะหลัง อาจมีสารไซยาไนด์ที่อาจเป็นพิษต่อระบบประสาท และถึงขั้นเสียชีวิตได้ การต้มนานอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไปจะช่วยลดสารพิษให้อยู่ในระดับปลอดภัย

ทางเลือกที่ปลอดภัย สำหรับผู้ประกอบการ และร้านอาหาร


เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพอาหารที่จำหน่าย พ่อค้าแม่ค้าควรให้ความสำคัญกับขั้นตอนการจัดการกับผัก โดยสามารถปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้
เลือกซื้อผักจากแหล่งที่เชื่อถือได้
ควรเลือกซื้อผักที่จำหน่ายจากกลุ่มเกษตรกรที่มีมาตรฐาน หรือร้านขายส่งที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้าง
ล้างด้วยน้ำสะอาดให้ถูกวิธี
การล้างผักเป็นขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ควรใช้น้ำสะอาด น้ำผสมด่างทับทิม หรือน้ำส้มสายชูในอัตราที่เหมาะสม และแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 นาที ก่อนล้างอีกครั้งด้วยน้ำสะอาด
ปรุงสุกก่อนเสิร์ฟ โดยเฉพาะผักที่มีความเสี่ยงสูง
ผักบางชนิดมีเชื้อโรคหรือสารพิษที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการล้าง ควรนำไปปรุงให้สุกก่อนเสิร์ฟเสมอ

แม้ผักจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่หากไม่ผ่านการจัดการที่เหมาะสม อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และสารเคมีที่เป็นอันตรายได้ การเลือกวัตถุดิบที่ดี ล้างอย่างถูกวิธี และปรุงให้สุกทุกครั้ง คือทางเลือกที่ปลอดภัย และช่วยยกระดับมาตรฐานร้านของคุณให้ลูกค้ามั่นใจในทุกมื้อ


ที่มาของข่าว


https://www.tnews.co.th/social/473255
https://foodsafety.moph.go.th/_WEBADMIN2/uploads/n_file/1nnlvdb611dwg0cog8.pdf

บทความแนะนำเพิ่มเติม


เตือนภัย “ปากกาเมจิก” ซึมทะลุถุงอาหารได้ อันตรายกว่าที่คิด
LINE MAN Wongnai ชวนร้านสนับสนุน ‘โกโก้ไทย’ ต่อยอดการขาย ส่งเสริมเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
เช็กให้ชัวร์ก่อนหยิบใช้ หอม - กระเทียม ขึ้นจุดสีดำ เสี่ยงมะเร็งตับ!