เทคนิคตั้งชื่อร้านให้ปัง ฉบับมือใหม่ จำง่าย ติดหู ดูมีเอกลักษณ์

พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ห้ามพลาด! ตั้งชื่อร้านให้ลูกค้าจำง่าย ดันยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรีมีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างมาก โดยทุกร้านต่างแข่งกันดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้เข้ามาที่ร้าน แต่หลายร้านมักมองข้ามสิ่งสำคัญที่ช่วยดึงดูดลูกค้าไป สิ่งนั้นคือ การตั้งชื่อร้าน เพราะเป็นสิ่งแรกที่ลูกค้ารับรู้ถึงร้าน โดยเฉพาะร้านที่เพิ่งเปิดใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หรือพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ที่ไม่รู้จะตั้งชื่อร้านอย่างไรให้ลูกค้าสนใจ วันนี้ LINE MAN รวมเทคนิคการตั้งชื่อร้านมาให้แล้ว รับรองปรับตามนี้ ร้านดูดี มีเอกลักษณ์ชัวร์ ไปดูกันเลย!

1. ใช้คำเด็ดในชื่อร้าน

การใช้คำเด็ด ๆ ในการตั้งชื่อร้าน เป็นเทคนิคที่จะช่วยดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ดี เนื่องจากคำเหล่านี้มักจะมีความหมายที่โดดเด่น และสามารถกระตุ้นความสนใจของลูกค้าได้ทันที ทำให้ร้านมีจุดยืนที่น่าจดจำ

ตัวอย่าง

  • สุดขั้ว! ทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความท้าทาย ความกล้าหาญ และความไม่เหมือนใคร 
  • ตำนาน ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านมีประวัติมายาวนาน หรือมีเรื่องราวที่เป็นที่จดจำ
  • ลับเฉพาะ สื่อถึงความพิเศษเฉพาะบุคคล ความพรีเมียม หรือข้อมูลที่ซ่อนเร้นอยู่ แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครเหมือนร้านเรา มีร้านเราทำได้เพียงร้านเดียว
  • เจ้าเก่า เป็นการเน้นย้ำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าร้านขายอาหารสูตรต้นตำรับที่หาทานได้ยากอย่างแท้จริง

2. บอกจุดขายให้โลกจำ

การบอกถึงจุดขายในชื่อร้าน เป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่ทำให้ลูกค้าจดจำร้านได้ในทันที โดยจุดขายที่ดีจะต้องสะท้อนถึงสิ่งที่ร้านทำได้ดี หรือแตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจน ซึ่งจะไม่เป็นเพียงแค่การบอกว่า "ร้านขายอะไร" แต่ควรสะท้อนถึงคุณค่า และแนวคิดของร้านด้วย ​​เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ให้สนใจมาสั่งซื้ออาหารที่ร้านมากขึ้น

ตัวอย่าง

ร้าน “ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน” ที่มีเมนู “ชาเย็น” เป็นจุดแข็งของร้าน โดยที่ร้านเบลนด์ชาขึ้นมาเอง ทำให้กลายเป็นร้านยอดนิยม โดนใจลูกค้าที่ชื่นชอบชาเย็น ซึ่งการตั้งชื่อร้านที่สื่อถึงจุดแข็งจะทำให้ลูกค้าสามารถรู้ทันทีว่าเมนูชาเย็นเป็นจุดขายของร้าน 

3. สั้นกระชับ ออกเสียงง่าย

การตั้งชื่อร้านให้สั้น กระชับ และออกเสียงง่าย เป็นเทคนิคที่สำคัญอย่างมากในการทำให้ลูกค้าจดจำชื่อร้านได้ และทำโดดเด่นในสายตาของพวกเขา เนื่องจากชื่อที่สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย ทำให้ลูกค้าจดจำร้านได้ และช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสามารถค้นหาร้านง่ายขึ้น 

ตัวอย่าง

ร้าน "พาข้าว" ตั้งชื่อสั้น กระชับได้ใจความ ทำให้รู้ความหมายได้ทันทีว่าขายอาหารแน่นอน

4. ความหมายดี

การตั้งชื่อร้านที่มีความหมายดี เป็นการเลือกใช้คำที่ฟังดูดี แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึง คุณค่า หรือจุดเด่นของร้านในทางบวก ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกดี ๆ ต่อร้านของเรา และสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับร้าน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับร้าน ทำให้ร้านดูมีความน่าเชื่อถือ และมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง

ร้าน "หอมมัน" ชื่อร้านสื่อถึงความหอม และความมันของข้าวมันไก่ ชวนให้อยากรับประทานทันทีที่ได้ยิน

5. ใส่คำต่อท้ายชื่อร้าน

การใส่คำต่อท้ายชื่อร้าน เช่น "Original" เพื่อสร้างแบรนด์ให้ร้านมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เนื่องจากเป็นการทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า หรือบริการที่ร้านนำเสนอ

ตัวอย่าง

ร้าน "Kaithong Original" ร้านอาหารที่ดูเป็นทางการและมีความน่าเชื่อถือจากชื่อร้านที่เติมคำลงท้ายว่า “Original” หรือออริจินัล

เพียงเท่านี้ พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ก็สามารถตั้งชื่อร้านให้โดนใจลูกค้าได้แล้ว อย่าลืมจดแล้วนำไปปรับใช้กับร้านของตัวเอง พร้อมรับยอดขายปัง ออร์เดอร์เข้ารัวกันได้เลย!

บทความแนะนำอื่น ๆ