วิชาภาษี 101 ทำความเข้าใจเรื่องภาษีขั้นพื้นฐาน ร้านไหน ๆ ก็เข้าใจได้!
Wongnai for Business รวมมาให้แล้ว สรุปข้อมูลเรื่องของ ‘ภาษี’ ที่คนทำร้านอาหารต้องรู้! เพราะจะช่วยให้เจ้าของร้านสามารถจัดการภาษีได้ง่าย ๆ ในทุก ๆ ปีอย่างไม่มีปัญหา
เกณฑ์ของกรมสรรพากรกำหนดไว้ว่า หากร้านอาหารมีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี ร้านไม่ต้องเสียภาษี แต่จำเป็นต้องยื่นภาษี แต่หากมีรายได้ตั้งแต่ 150,001 บาทต่อปีขึ้นไป จะมีโอกาสต้องเสียภาษี แต่สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ มาลดหย่อนภาษีได้
ร้านสามารถยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือยื่นออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th
ร้านสามารถยื่นด้วยตัวเองได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคมของทุกปี ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ไปรษณีย์ไทย หรือยื่นภาษีผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ของกรมสรรพากรได้ถึงวันที่ 8 เมษายนของทุกปี
กรณีที่รายได้ไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี แม้จะไม่ได้เสียภาษี แต่ยังคงต้องยื่นภาษีเช่นเดียวกัน เพื่อให้กรรมสรรพากรเก็บข้อมูลประวัติรายได้ไว้
เจ้าของร้านอาหารควรต้องยื่นภาษีในทุก ๆ ปี และสำหรับร้านที่มีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) ภายใน 30 วัน (นับตั้งแต่วันที่เกิน 1,800,000 บาท) โดยสามารถขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทางเว็บไซต์ www.rd.go.th แล้วเลือก “บริการอิเล็กทรอนิกส์”
ทั้งนี้ ร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต้องทำการคำนวณภาษี และยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของรอบเดือนถัดไป
เจ้าของร้านอาหารควรยื่นภาษีในทุก ๆ ปี ตามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น เพราะหากกรมสรรพากรตรวจสอบแล้วพบว่ารายได้ต่อปีของท่านเกินจากเกณฑ์ที่กำหนด อาจมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง และอาจโดนเรียกเก็บค่าปรับได้
สรุป : เจ้าของร้านอาหารทุกร้านต้องยื่นตรวจสอบภาษี แต่จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการคำนวณรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนภาษีของแต่ละบุคคล
สำหรับร้านอาหารที่เปิดหน้าร้านและเดลิเวอรีนั้น การยื่นตรวจสอบภาษีจะต้องนำรายได้ทั้ง 2 ช่องทางมารวมกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเปิดหน้าร้าน หรือขายผ่านแอปเดลิเวอรีอย่างเดียวก็จำเป็นต้องยื่นภาษีในทุก ๆ ปีเช่นกัน
1. ลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในฐานะบุคคลธรรมดา : เจ้าของร้านสามารถลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนตัว สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวนเงิน 60,000 บาทโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ รวมถึงค่าลดหย่อนสำหรับครอบครัว ค่าการทำประกัน และการลงทุน หรือค่าเงินบริจาค โดยเจ้าของร้านควรจดบัญชีรายรับ และรายจ่าย เพื่อเช็กสิทธิสำหรับตนเอง
2. ลดหย่อนภาษีจากการเข้าร่วมโครงการของรัฐ : สำหรับการเข้าร่วมโครงการของรัฐจะช่วยให้ร้านนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ โดยร้านจะต้องหมั่นติดตามโครงการต่าง ๆ ของรัฐอยู่เสมอเพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสดี ๆ ในการลดค่าใช้จ่ายให้กับร้าน
1. ลดหย่อนภาษีจากค่าเสื่อม และค่าสึกหรอ
ได้แก่
- ค่าคอมพิวเตอร์ รวมทั้งค่าอุปกรณ์ และค่าโปรแกรมต่าง ๆ สามารถนำมาคิดค่าเสื่อมราคาในอัตรา 40% ของต้นทุนในวันที่ได้มา โดยทยอยหักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี
- ค่าระบบ และอุปกรณ์ POS ที่ใช้ในการคิดเงินค่าสินค้า และบริการ สามารถเอาเงินที่ลงทุนในระบบต่าง ๆ มาลดหย่อนภาษีได้
- ค่าเสื่อมของอาคาร ที่เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร สามารถนำมาคิดค่าเสื่อมราคาในอัตรา 25% ของต้นทุน โดยต้นทุนส่วนที่เหลือสามารถหักได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี
2. ลดหย่อนภาษีจากค่าจ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ร้านอาหารสามารถนำค่าจ้างผู้สูงอายุมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าหากมีการจ้างพนักงานผู้สูงอายุที่มีเงื่อนไขดังนี้
- มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- เป็นลูกจ้างบริษัทอยู่ก่อนแล้ว หรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
- ค่าจ้างจะต้องไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
- มีการจ้างงานผู้สูงอายุไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด
- ผู้สูงอายุต้องไม่เป็น และไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จ้าง หรือบริษัทในเครือ
3. ลดหย่อนภาษีจากค่าอบรมพนักงาน
หากทางร้านมีการส่งพนักงานไปเข้าคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ รายจ่ายที่ใช้ในการอบรมสามารถนำมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า เช่น ค่าฝึกอบรม ค่าลงทะเบียน ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทางที่สถานฝึกอบรมเรียกเก็บ โดยจะต้องมีใบเสร็จรับเงินของสถานฝึกอบรม และ จัดทำรายงานค่าใช้จ่าย
4. ลดหย่อนภาษีจากการทำประกันความคุ้มครอง
หากทางร้านมีการทำประกันความคุ้มครองให้กับพนักงาน หรือ ธุรกิจ เช่น ประกันวินาศภัย ประกันอัคคีภัย และประกันภัยพิบัติ รายจ่ายที่ใช้ในส่วนนี้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ของกรมสรรพากรได้
5. ลดหย่อนภาษีจากการเข้าร่วมโครงการของรัฐ
นอกจากการลดหย่อนจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว การเข้าร่วมโครงการของรัฐ เช่น
- โครงการช้อปดีมีคืน : พิเศษ! สำหรับพ่อค้าแม่ค้า LINE MAN ที่เข้าร่วมโครงการ “LINE MAN ให้ผ่อน” รอบวันที่ 17 มกราคม 2566 - 22 มกราคม 2566 นอกจากผ่อนสบายรายวันแล้ว ร้านค้ายังสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการผ่อนซื้อสินค้าโครงการ “LINE MAN ให้ผ่อน” โดยสามารถเก็บหลักฐานไว้ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท ในช่วง เดือนมกราคม - มีนาคม ของปี 2567
ทั้งนี้เจ้าของร้านควรหมั่นเช็กสิทธิ์ และติดตามข่าวสารจากกรมสรรพากรอยู่เสมอเพื่อประโยชน์สูงสุดของธุรกิจ
👉 ศึกษาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และวิธีคำนวณภาษีที่ได้ : iTax
👉 ติดตามข่าวสารเรื่องภาษีจากกรมสรรพากร ได้ที่ www.rd.go.th
เริ่มต้นเปิดร้านบน LINE MAN คลิกเลย