3 วิธีคำนวณต้นทุนขาย ที่ร้านค้ามือใหม่ห้ามพลาด

เปิดร้านอย่างไรให้มีกำไร ไม่ขาดทุน

          ในการทำธุรกิจร้านค้าแน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากขายให้ได้กำไร แต่บางครั้ง ในขณะที่ธุรกิจกำลังดำเนินการไปได้ด้วยดี ขายดีเทน้ำเทท่า แต่พอกลับมาคำนวณกำไร กลับพบว่าได้กำไรไม่มากเท่าที่คิด หรือในบางกรณีดันเกิดการขาดทุนเสียอย่างงั้น สาเหตุมาจากการไม่รู้ต้นทุนขายที่แท้จริง ซึ่งอาจทำให้กำไรหายไปแบบไม่รู้ตัวได้

          วันนี้ LINE MAN สรุปมาให้แล้ว กับ 3 วิธี คำนวณต้นทุนขาย ที่จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถบริหารร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เซฟเก็บไว้ได้เลย!

ต้นทุนขายคืออะไร ?

          ต้นทุนขาย คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้น ๆ ไม่ใช่แค่ราคาของที่เราซื้อมาเท่านั้น แต่รวมไปถึง ค่าใช้จ่ายตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และค่าใช้จ่ายแฝงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

          สำหรับ ธุรกิจร้านอาหาร ต้นทุนขาย คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเตรียมอาหาร หรือเมนูที่ขายให้ลูกค้า เช่น

  • ต้นทุนวัตถุดิบ: วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร เช่น ผัก เนื้อสัตว์ เครื่องปรุง
  • ค่าแรงการผลิต: ค่าจ้างพนักงาน เช่น เชฟ ผู้ช่วยเชฟ
  • ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการผลิต: ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด

โดยแต่ละหัวข้อ มีสูตรการคำนวณง่าย ๆ ดังนี้

1. ต้นทุนวัตถุดิบ

          ต้นทุนวัตถุดิบเป็นส่วนสำคัญที่สุดในต้นทุนขาย สำหรับธุรกิจร้านอาหาร การทำอาหาร 1 เมนู ก็ต้องใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย ซึ่งการคำนวณที่แม่นยำจะช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้ โดยใช้สูตรดังนี้

  • สูตร: ต้นทุนวัตถุดิบ = ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้จริง x ราคาที่ซื้อ ÷ ปริมาณที่ซื้อ
  • ตัวอย่าง: ขายสเต๊กหมู ซื้อเนื้อหมูมาในราคา 140 บาทต่อ 10 ขีด ใช้เนื้อหมูทำสเต็กแค่ 2 ขีด ดังนั้นจะคำนวณต้นทุนวัตถุดิบได้ คือ 2 x (140 ÷ 10) เท่ากับ 28 บาท

ในการคำนวณต้นทุนนั้น บางครั้งการคิดตรง ๆ ก็อาจทำให้คำนวณต้นทุนได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงต้องคำนึงถึงคำนวณสัดส่วนในการตัดแต่งวัตถุดิบด้วย อย่างสูตร Yeild% ซึ่งจะช่วยให้การคำนวณต้นทุนขายเป็นไปได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

2. ค่าแรงการผลิต

          ในการทำธุรกิจร้านอาหาร อาจมีการจ้างพนักงานเพิ่มเติมเพื่อดูแลร้าน และประกอบอาหาร ซึ่งค่าใช้จ่ายประเภทเงินเดือนนั้นถือเป็นต้นทุนการผลิตโดยตรง ต้องนำมาใช้ในการคำนวณต้นทุนขายด้วย โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้

  • สูตร: ค่าแรงการผลิต = เงินเดือนพนักงาน ÷ จำนวนสินค้าที่ผลิตได้
  • ตัวอย่าง: ถ้าพนักงานมีเงินเดือน 12,000 บาท และในหนึ่งเดือนผลิตเมนูได้ 1,000 จาน ค่าแรงการผลิตต่อจานจะเป็น: 12,000 ÷ 1,000 = 12 บาท

3. คำนวณค่าใช้จ่ายในการผลิต

          ต้นทุนขายไม่ได้มีแค่ค่าใช้จ่ายสำหรับวัตถุดิบ และค่าจ้างพนักงาน แต่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตลอดการผลิต ยกตัวอย่างเช่น

  • ค่าไฟฟ้า = ค่าไฟฟ้ารายเดือน ÷ จำนวนสินค้าที่ผลิตได้
  • ค่าน้ำมันรถที่เกี่ยวข้อง เช่น จากการเดินทางไปซื้อวัตถุดิบ
  • ค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาหารต่าง ๆ

📌 "ต้นทุนแฝง" สิ่งที่ร้านค้าไม่ควรมองข้าม 

          นอกจาก 3 หัวข้อหลักข้างต้น ยังมี ต้นทุนแฝง เช่น ค่าเสื่อมของอุปกรณ์ ค่าบรรจุภัณฑ์ หรือค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ที่ต้องนำมาคำนวณในต้นทุนขายด้วย เพื่อไม่ให้ต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริงนั่นเอง

          เท่านี้การคำนวณต้นทุนขายก็ไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อรู้ต้นทุนขายแล้ว ก็นำไปใช้ในการตั้งราคาให้ได้กำไรตามที่ต้องการกันเลย แล้วมาขายดี กำไรปังกันไปด้วยกัน !

ติดตามข่าวสาร และสาระน่ารู้ที่พ่อค้าแม่ค้า LINE MAN ไม่ควรพลาด ได้ที่กระดิ่งแจ้งเตือนบนแอปฯ Wongnai Merchant App คลิกที่นี่

บทความแนะนำเพิ่มเติม